วันอาทิตย์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ลักษณะทั่วไป และระบบนิเวศของลีเล็ด

ลักษณะทั่วไป และระบบนิเวศ

ลักษณะภูมิประเทศ

    ลีเล็ดเป็นตำบลหนึ่งของอำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี   มีพื้นที่ประมาณ 17,266 ไร่  มีประชากรทั้งสิ้น 3,881 คน  ประกอบไปด้วยหมู่บ้านจำนวน 8 หมู่บ้าน คือ บ้านบางใหญ่ฝั่งขวา  บ้านคลองราง  บ้านบางใหญ่ฝั่งซ้าย  บ้านบางบุตร  บ้านบางพลา  บ้านบางในบ้าน  บ้านคลองกอ  บ้านบางทึง    สภาพทั่วไปของตำบลลีเล็ดจะเป็นที่ราบลุ่ม มีแม่น้ำไหลผ่าน และบางส่วนอยู่ติดกับทะเล มีน้ำเค็มท่วมถึง  เป็นพื้นที่ที่มีสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ในอดีตแต่ละหมู่บ้านจะใช้เส้นทางทางน้ำในการสัญจรไปมา ซึ่งนับว่ามีเป็นร้อยสาย เพราะลักษณะสภาพพื้นที่ที่เป็นเช่นนั้นทำให้ประชากรที่อาศัยบริเวณที่ราบต่ำประกอบอาชีพทำสวนมะพร้าว ส่วนผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ติดกับทะเลจะทำประมงพื้นบ้านเป็นอาชีพ  นอกจากอาชีพการทำสวนมะพร้าวและประมงพื้นบ้านแล้ว  ในปัจจุบันยังมีการทำนากุ้งร่วมด้วย

   ในตำบลลีเล็ดมีวัดอยู่ 5 วัดด้วยกัน คือ วัดบางใหญ่ วัดบางพลา วัดบางบุตร วัดคลองกอ และวัดตรีธาราราม  มีโรงเรียนระดับชั้นประถมศึกษา 3 โรงเรียน คือ โรงเรียนวัดบางพลา โรงเรียนวัดตรีธาราราม และโรงเรียนบ้านคลองราง   ในปัจจุบันลีเล็ดเป็นตำบลที่มีความเจริญมากขึ้น จากที่เคยสัญจรกันทางน้ำก็เปลี่ยนมาใช้รถแทน มีถนนตัดใหม่เกิดขึ้นหลายสายเชื่อมโยงอำเภอต่าง ๆ กับลีเล็ดให้มีความสะดวกขึ้น บ้านผู้คนจากที่เคยตั้งอยู่ริมแม่น้ำลำคลอง ได้เคลื่อนย้ายมาสร้างใกล้ถนน แต่ยังคงมีความเป็นวิถีชนบท 
ทิศเหนือ                 ติดกับ     ทะเลอ่าวไทย
ทิศใต้                      ติดกับ     ต.ศรีวิชัย อ.พุนพิน จ.สุราษฏร์ธานี
ทิศตะวันออก         ติดกับ     ต.บางโพธิ ์อ.เมือง จ.สุราษฏร์ธานี
ทิศตะวันตก           ติดกับ     ต.คลองไทร อ.ท่าฉาง จ.สุราษฏร์ธานี 

ลักษณะภูมิอากาศ

   ลักษณะของภูมิอากาศจะมี 2 ฤดู คือ ฤดูร้อนและฤดูฝน เป็นเพราะได้รับอิทธิพลจากมรสุมตะวันออกเฉียงใต้ และมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งทำให้ฤดูร้อนและฤดูฝนมีระยะเวลาที่ใกล้เคียงกัน 

ระบบนิเวศ 

   ระบบนิเวศของตำบลลีเล็ด ที่เป็นระบบนิเวศ 2 น้ำ หรือที่รู้จักกันดีว่าระบบนิเวศ น้ำกร่อยจึงทำให้พื้นที่ของตำบลลีเล็ดมีความหลากหลายทางชีวภาพ ไม่ว่าจะเป็นพรรณไม้และพันธุ์สัตว์น้ำ โดยเฉพาะป่าชายเลนผืนใหญ่ที่ เป็นแหล่งอาหารให้กับคนและสัตว์ เป็นที่อยู่อาศัยขยายพันธุ์ของพืชและสัตว์ เป็นแหล่งสร้างอาชีพและรายได้ของชาวบ้าน เป็นวัสดุก่อสร้าง และเชื้อเพลิง เป็นเครื่องมือป้องกันภัยธรรมชาติ   ในป่าชายเลนบ้านลีเล็ด ชาวบ้านเกือบจะทุกเพศทุกวัย ที่ใช้ประโยชน์จากป่า ช่วงเวลาน้ำขึ้น ชาวบ้านจะไปตัดจาก, หาหอย, จับปูเปี้ยว, ปักแร้วปู, ดักอวน ฯลฯ ช่วงน้ำลงก็หาหอยกัน, ถีบกระดานหาหอย, ตกเบ็ดและหาปู 

   ในปัจจุบัน พื้นที่ป่าชายเลนของตำบลลีเล็ด นับว่าเป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดในจังหวัดสุราษฎร์ธานี หลังจากการดำเนินการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน พื้นที่ของป่าชายเลนได้ขยายเพิ่มขึ้นจำนวน 3,000 ไร่โดยที่ไม่ต้องปลูก เพียงแต่มีการเฝ้าระวังไม่ให้มีการทำประมงผิดกฎหมายในพื้นที่ และผลจากการที่พื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น ทำให้ทรัพยากรสัตว์น้ำเพิ่มขึ้นด้วย ชาวบ้านมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น